หลายท่านที่ได้ทำการตรวจสุขภาพประจำปี แล้วได้ทราบค่าตัวเลขเต็มไปหมดที่ได้หลังการตรวจเลือด ซึ่งค่าต่างๆนี้ล้วนสะท้อนพฤติกรรม และเป็นเหมือนการทำนายโอกาสที่จะเกิดโรคต่างๆ เบื้องต้น แต่เป็นสิ่งดีที่จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันกลับมาดูแลสุขภาพเพื่อการป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่นๆ หลังจากทราบสัญญาณเตือนที่ได้รับจากการตรวจเลือด ค่าเลือดต่างๆนี้ หมายถึงอะไรบ้าง และบ่งบอกอะไรบ้าง thai-safeywiki มีคำตอบมาให้แล้ว
1. Blood chemistry แปลตรงๆ ว่าเคมีของเลือด หมายถึงระดับของสารต่างๆ ที่มีอยู่ในเลือดซึ่งสามารถก่อปฏิกิริยาเคมีได้ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารเหล่านี้ บ่งบอกไปถึงว่าจะมีโรคอะไรหรือมีการบ่งชี้อะไรที่เกิดขึ้นในร่างกายบ้าง
2. FBS = ย่อมาจากคำว่า Fasting Blood Sugar แปลว่าระดับน้ำตาลในเลือด หลังการอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนทำการตรวจ เป็นการตรวจสถานะของโรคเบาหวานโดยตรง โดยคนปกติค่านี้จะต่ำกว่า 100 mg/dL แต่ถ้าของใครสูงเกิน 125 ทางการแพทย์ ถือว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว
3. HbA1C = ย่อมาจากคำว่า Hemoglobin A1C แปลว่าระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ยรอบสามเดือนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีความหมายคล้ายๆ กับค่า FBS แต่มีประโยชน์กว่าดังนี้คือ
3.1 ทำให้เราตรวจคัดกรองโรคเบาหวานได้ทุกเมื่อ โดยที่ไม่ต้องงดน้ำและอาหารมาล่วงหน้า
3.2 ค่า HbA1C สะท้อนค่าน้ำตาลในเลือด ในช่วงเวลาสามเดือนย้อนหลัง จึงตัดปัญหาระดับน้ำตาลขึ้นหรือลงในช่วงหนึ่งวันก่อนการตรวจ โดยเฉพาะผู้ที่จะงดอาหารที่มีน้ำตาลสูงเฉพาะสองสามวันก่อนไปตรวจร่างกาย
โดยถ้าค่าน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 6.0% ถือว่ามีความเสี่ยงมากที่จะเป็นโรคเบาหวาน แต่ถ้าค่าน้ำตาลของใครสูงกว่า 6.5% ก็ถือว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว
4. BUN = ย่อมาจากคำว่า Blood Urea Nitrogen แปลว่าไนโตรเจนในรูปของยูเรีย ตัวยูเรียนี้เป็นเศษของเหลือที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีนที่ตับ และต้องถูกกำจัดทิ้งโดยไต การวัดระดับค่า BUN นี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเลือดมีการไหลไปกรองที่ไตมากพอหรือไม่ ถ้าภาวะที่เลือดไหลไปกรองที่ไตน้อยลง เช่นในภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือสูญเสียเลือดไปทางอื่นๆ เช่นเลือดออกในทางเดินอาหาร ค่าปกติของ BUN คือ 8-24 ซึ่งบ่งบอกว่าเลือดยังไหลไปกรองที่ไตดีอยู่ ร่างกายไม่ได้อยู่ในภาวะขาดน้ำ หรือเสียเลือด
5. Cr = ย่อมาจากคำว่า Creatinine ซึ่งหมายถึงเศษเหลือจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ เนื่องจากกล้ามเนื้อของคนเราจะมีการสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา คนมีกล้ามเนื้อมากก็สลายตัวมากสร้างมาก Cr ซึ่งเป็นเศษซากที่สลายตัวออกมาจะถูกไตขับทิ้งไป แต่ในกรณีที่ไตเสียการทำงาน เช่นเป็นโรคไตเรื้อรัง จะทำให้ไตขับ Cr ออกทิ้งไม่ทันกับที่กล้ามเนื้อสลาย ทำให้ระดับ Cr ในเลือดสูงผิดปกติ ค่าปกติของคืออยู่ระหว่าง 0.7-1.2 mg/dL
6. eGFR = ย่อมาจาก estimated Glomerular Filtration Rate แปลว่าอัตราการไหลของเลือด ผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที ค่านี้จะได้จากการเอา Cr กับอายุ และชาติพันธุ์ของผู้ตรวจมาคำนวณ ห้องแล็บที่ยังไม่ทันสมัยจะไม่รายงานค่านี้ ถ้าใครอยากทราบค่านี้ต้องเอาค่า Cr ที่ได้ไปหา GFR calculator ตามเว็บไซต์มาคำนวณ ค่าจีเอฟอาร์.นี้มีประโยชน์มากในแง่ที่ใช้ในการแบ่งระดับความรุนแรงของคนที่ Cr ผิดปกติว่ามีความรุนแรง โดยโรคไตที่เป็นเรื้อรังอยู่ในระยะไหนจาก 5 ระยะ กล่าวคือ
ระยะที่ 1 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว แต่ไตยังทำงานปกติ (มีค่าจีเอฟอาร์ 90 มล./นาที ขึ้นไป)
ระยะที่ 2 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว และไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย (มีค่าจีเอฟอาร์ 60-89 มล./นาที)
ระยะที่ 3 ไตทำงานผิดปกติปานกลาง ไม่ว่าจะตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตหรือไม่ก็ตาม (มีค่าจีเอฟอาร์ 30-59 มล./นาที)
ระยะที่ 4 ไตทำงานผิดปกติมาก (มีค่าจีเอฟอาร์ 15-29 มล./นาที)
ระยะที่ 5. ระยะสุดท้าย (มีค่าจีเอฟอาร์ต่ำกว่า 15 มล./นาที) ซึ่งจะต้องทำการล้างไต
7. Uric acid คือกรดยูริกในเลือด ที่เป็นต้นเหตุของโรคเก้าท์ โดยค่าปกติของกรดยูริกในเลือดอยู่ระหว่าง 3.4-7.0 ถ้าสูงกว่าอาจจะต้องเข้าทำการรักษาถ้าเริ่มมีอาการปวดตามข้อ
8. Triglyceride คือไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น หรืออาจมาจากการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น น้ำมัน เนย หรือไขมันต่าง ๆ เป็นต้น หากมีไตรกลีเซอไรด์สูงและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจขาดเลือดได้ ระดับปกติคือไม่เกิน 150 mg/dl
9. HDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่า เอ็ช.ดี.แอล. หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไขมันดี” เป็นไขมันที่สามารถดึงไขมันที่พอกหลอดเลือดออกไปจากหลอดเลือด ดังนั้นยิ่งมีเอ็ช.ดี.แอล.มากก็ยิ่งดี คนปกติควรมีเอ็ขดีแอล.เกิน 40 mg/dl ขึ้นไป ถ้าต่ำมากอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ไขมันนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างเองของร่างกายและจะมีมากขึ้นได้สำหรับผู้มีการออกกำลังกายเป็นประจำ
10. LDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่า แอลดีแอล. หรือเรียกอีกอย่างว่า “ไขมันเลว” เพราะเป็นตัวไขมันที่พอกอยู่ตามผนังหลอดเลือดและเป็นไขมันที่ก่อโรคโดยตรง การจะตัดสินว่าคนไข้คนไหนควรกินยาลดไขมันเมื่อไหร่ก็ตัดสินกันจากระดับแอลดีแอล โดยนำมาเทียบกับความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด (cardiac risk stratification) ที่แต่ละคนมีเป็นทุนอยู่แล้ว คือ
ถ้ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่ำ (low cardiac risk) เช่นอายุยังไม่มาก ไขมันไม่สูง ความดันไม่สูง ไม่สูบบุหรี่ ก็จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 160
ถ้ามีความเสี่ยงปานกลาง (moderate cardiac risk) เช่นมีปัจจัยเสี่ยงหลักเกินสองอย่างขึ้นไป จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL จากการตรวจมีมากกว่า 130
ถ้ามีความเสี่ยงสูง (high cardiac risk) หรือเป็นโรคหัวใจ หรือเบาหวาน หรืออัมพาตแล้ว ก็จะต้องให้เริ่มทานยาลดไขมันถ้าค่าจากการตรวจมี LDL มากกว่า 100
11. Total Cholesterolคือคอเลสเตอรอลรวมในร่างกาย เป็นค่ารวมของไขมันสามอย่างคือคอเลสเตอรอลรวม= ไขมันดี (HDL) + ไขมันเลว (LDL) + หนึ่งในห้าของไขมันไตรกลีเซอไรด์
ในอดีตเราใช้ค่าคอเลสเตอรอลรวมตัวนี้ตัวเดียวในการประเมินไขมันในเลือด จึงได้กำหนดค่าปกติไว้ว่าถ้าสูงเกิน 240 mg/dl จึงจะถือว่าสูงและจะเริ่มใช้ยาลดไขมัน แต่ปัจจุบันเราไม่นิยมดูค่าคอเลสเตอรอลรวมแล้ว โดยเราดูเจาะลึกลงไปถึงไขมันแต่ละชนิดแทน และตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ยาจากระดับไขมันเลว (LDL) โดยไม่สนใจคอเลสเตอรอลรวม เพราะค่านี้มักทำให้เข้าใจผิดว่ามีไขมันเกินในร่างกาย
12. AST(SGOT) = ย่อมาจาก Aspartate Transaminase เป็นเอนไซม์ที่ปกติอยู่ในเซลของตับ ซึ่งโดยปกติจะไม่ออกมาในเลือด แต่หากมีเอ็นไซม์ตัวนี้ออกมาในเลือดมาก แสดงว่าเซลตับกำลังได้รับความเสียหาย เช่นอาการตับอักเสบจากการติดเชื้อหรือจากการได้รับสารพิษ รวมถึงจากการได้รับแอลกอฮอล์ และการมีไขมันแทรกในเนื้อตับ ค่าปกติ AST คือไม่เกิน 40 IU/L แต่ถ้าจะให้แนะนำแล้ว ผู้ชายควรจะมีค่า AST นี้ต่ำกว่า 30 IU/L และผู้หญิงควรจะมีค่าต่ำกว่า 19 IU/L
13. ALT (SGPT) = ย่อมาจากคำว่า Alamine Amintransferase เป็นเอ็นไซม์ที่ปกติอยู่ในเซลของตับเช่นเดียวกับ AST แต่ว่ามีความจำเพาะเจาะจงกับตับมากกว่า AST โดย เอ็นไซม์ ALT นี้จะออกมาในเลือดเมื่อเซลตับได้รับความเสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีเนื้องอกอุดตันทางเดินน้ำดี ค่าปกติของ ALT คือไม่เกิน 34 IU/L
14. Alkaline Phosphatase = ตัวนี้เป็นเอนไซม์ที่อยู่ในเซลของตับ ทางเดินน้ำดี และของกระดูกเป็นส่วนใหญ่ เอนไซม์ตัวนี้หากมันสูงขึ้นคืออาจจะบ่งบอกว่ามีปัญหาที่ทางเดินน้ำดี ตับ หรือกระดูก ค่าปกติในผู้ชายผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 128 U/L
15. GTT = ย่อมาจากคำว่า gamma glutamyl transpeptidase เป็นเอนไซม์ในเซลตับและทางเดินน้ำดีเช่นเดียวกับ ALT ซึ่งมีความไวต่อความเสียหายของเซลตับมากกว่า แต่ขาดความจำเพาะเจาะจง หมายความว่าค่า GTT อาจจะสูงจากอะไรก็ได้ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของตับ เช่นการมีปัญหาที่ตับอ่อน หัวใจ ปอด หรือกระทั่งการเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีผลให้ GTT สูงขึ้นได้ ซึ่งต้องใช้ประกอบกับค่าอื่นๆ เพื่อบ่งบอกให้ชัดเจนขึ้นว่าร่างกายเรามีความเสี่ยงต่อโรคอะไร
16. HBs Ag = ย่อมาจาก Hepatitis B surface Antigen แปลว่าตัวไวรัสตับอักเสบบี. ซึ่งได้จากการตรวจโมเลกุลที่ผิวของมัน ที่ปนอยู่ในเลือด ถ้าตรวจได้ผลบวกก็แปลว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.อยู่ในตัว ถ้าได้ผลลบ ก็แปลว่าไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในร่างกาย
17. Anti HBs = ย่อมาจาก Antibody to Hepatitis B surface Antigen แปลว่าภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี. ถ้าผลจากการตรวจได้ผลบวกก็แปลว่าร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
อย่างไรก็ดี ผลจากการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถยืนยันความผิดปกติที่พบ หรือโรคบางโรคได้ เนื่องจากโรคบางชนิดจะต้องอาศัยการตรวจหลายอย่างมาประกอบกัน เพื่อยืนยันผลและยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจเลือดออกมาอยู่ในเกณฑ์ไม่ปกติ เช่น อาหารที่รับประทานก่อนการตรวจ อยู่ในช่วงมีประจำเดือน การออกกำลังกาย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม การใช้ยาบางชนิด หรือการลดอาหารบางอย่างเพื่อให้ค่าเลือดดีขึ้น จึงอาจจะจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมในขั้นตอนต่อไปตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเป็นวิธีการพื้นฐานที่สำคัญ และจึงจำเป็นอย่างมากที่จะใช้ในการวินิจฉัยเบื้องต้น จึงควรจะมีการตรวจทุกปี
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ผ่าน https://drsant.com/