WHO เตือน “ไข้นกแก้ว” 

แชร์บทความนี้

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนการระบาดของโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้นกแก้ว ที่กำลังระบาดหนักในหลายประเทศฝั่งยุโรป มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศเตือนถึงเกิดการระบาดของโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้นกแก้ว ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศในยุโรป

การระบาดของโรคซิตตาโคซิสเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2566 และกินเวลาจนถึงต้นปีนี้โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งโรคไข้นกแก้วดังกล่าวเกิดจากแบคทีเรียในตระกูล Chlamydia ที่พบในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด หากนกที่ติดเชื้อไม่ได้ดูเหมือนป่วยเสมอไป แต่นกจะปล่อยแบคทีเรียเมื่อหายใจหรือถ่ายอุจจาระ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า มนุษย์สามารถติดโรคซิตตาโคซิสได้โดยการสูดดมฝุ่นหรือสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ และอาจป่วยได้หากถูกนกกัด หรือหากจะงอยปากของนกสัมผัสกับจะงอยปากของมนุษย์

 

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โรคนี้ไม่แพร่กระจายโดยการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่โรคซิตตาโคซิสสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ แม้มีกรณีนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในส่วนของเคสล่าสุด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เคยสัมผัสกับสัตว์ปีกหรือนกป่า พร้อมมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, ไอแห้ง, มีไข้ และหนาวสั่นเป็นเวลาประมาณ 5 – 14 วัน ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และแทบไม่มีผู้เสียชีวิต

 

โดยองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าจะติดตามการระบาดต่อไปพร้อมกับประเทศที่ได้รับผลกระทบ พร้อมสนับสนุนให้แพทย์เฝ้าระวังการติดเชื้อ และเตือนเจ้าของนกที่เลี้ยงและคนงานที่ต้องสัมผัสกับนกบ่อย ๆ ให้รักษาสุขอนามัยและดูแลกรงให้สะอาดพร้อมสวมถุงมือและหน้ากากเมื่อทำความสะอาดกรงนก

 

สถานการณ์ในไทย

ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อโรคไข้นกแก้วอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานความร่วมมือเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนรับฟังข่าวด้วยความตระหนัก รับทราบความเสี่ยงของภัยสุขภาพ เพื่อทราบแนวทางป้องกันโรค ไม่ตื่นตระหนกตกใจ หรือหลงเชื่อข่าวปลอมจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถติดตามข่าวได้จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการป้องกันโรคไข้นกแก้วสามารถทำได้ง่าย โดยประชาชนควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และหลังจากสัมผัสสัตว์แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก หมั่นสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการไข้รวมถึงอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ขอขอบคุณข้อมูล

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000020933

 

กรมควบคุมโรค

โรคบาดทะยักคืออะไร สาเหตุ อาการ ความรุนแรง การป้องกัน และวิธีรักษา

แชร์บทความนี้

แชร์บทความนี้โรคบาดทะยักเป็นหนึ่งในโรคที่มีความรุนแรงและเกิดจากสารพิษที่ถูกปล่อย

อ่านเพิ่มเติม »