ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกบ่อยขึ้น และแน่นอนว่า อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยก็คือ การลื่นล้ม การลื่นล้มมีอันตรายและความรุนแรงแตกต่างขึ้นอยู่กับ ความรุนแรง บริเวณที่ได้รับการกระแทกและปัจจัยบุคคล ซึ่งพบเจอได้บ่อยและเป็นภัยใกล้ตัวมากๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เริ่มมีการทรงตัวที่ไม่ดี เรามีข้อมูลดีๆ ข้องควรระวังมาบอกกันครับ
สถิติการลื่นล้มในไทย
กรมควบคุมโรค มีการบันทึกสถิติหกล้มในผู้สูงอายุกว่าปีละ 3 ล้านราย ซึ่งสาเหตุหลักมากจากการลื่น หรือสะดุดล้ม
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากสถิติในปี 2564 มีจำนวนสูงกว่า 12 ล้านคน ซึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงของวัยนี้คือการพลัดตกหกล้ม ทำให้เกิดการบาดเจ็บและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย วันละ 4 ราย และยังเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หวาดกลัวการหกล้ม และต้องพึ่งพาผู้อื่น มีคุณภาพชีวิตลดลง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม จากสถิติการพลัดตกหกล้มมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ร้อยละ 80 โดยจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังคือ พื้นที่เปียก หรือลื่น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามโดยกรมควบคุมโรคมีการให้ข้อมูลดังต่อไปนี้
ปัจจัยเสี่ยงการล้มในผู้สูงอายุการหกล้มมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 ประการ คือ
- ปัจจัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจากการที่มีพยาธิสภาพจากอายุที่เพิ่มขึ้น
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การวางเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของเกะกะกีดขวางทางเดิน พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การใช้ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงภายในร่างกายของผู้สูงอายุ เช่น
- การเปลี่ยนแปลงด้านสายตา ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสายตายาว ทำให้คาดคะเนระยะได้ไม่ถูกต้อง หรือการเป็นโรคต้อต่างๆ ที่ทำให้มองเห็นไม่ชัด จึงเกิดการหกล้ม
- การเปลี่ยนแปลงด้านข้อต่อและเอ็นที่อ่อนแอลง ส่งผลต่อการทรงตัว จึงทำให้เกิดการหกล้มได้
- ระบบทางเดินปัสสาวะ ในผู้สูงอายุพบว่ามีปัญหาปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ ทำให้ต้องรีบเร่งในการเข้าห้องน้ำและเกิดการหกล้มบ่อยครั้ง
- ความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวบางอย่าง ก็ส่งผลต่อการหกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง ขาดสมดุลในการทรงตัว มีอาการของโรคพาร์กินสัน ที่มีภาวะสั่นก็มีความเสี่ยงต่อการหกล้มสูงเช่นกัน
- การใช้ยาบางตัวมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ ยาต้านการซึมเศร้า
ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม หรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ได้แก่
- การวางเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของเกะกะกีดขวางทางเดิน พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น
- การเดินในพื้นที่เปียกและลื่น หลายๆพื้นที่ที่มักพบเห็นได้ตามลานจอดรถ หน้าร้านสะดวกซื้อ ตอนฝนตก เป็นต้น
- การเดินในพื้นต่างระดับ พื้นที่ต่างระดับบางที่อาจจะใช้วัสดุพื้นเป็นแบบขัดมัน ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะโดยปกติแล้วผู้สูงอายุจะมีการยกเท้าต่ำจึงเสี่ยงต่อการสะดุดได้สูง
- รองเท้าแตะ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน หรือพื้นที่ที่เดินทางไปบ่อยๆ หรือคิดเผื่อการกันลื่นเมื่อตอนฝนตก
การหกล้มเป็นปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุและส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนั้นหากสามารถป้องกันการหกล้มได้จะก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในผู้สูงอายุ
หากเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ มีการ พลัดตก หกล้มเกิดขึ้น สามารถปฐมพยาบาลได้ดังนี้
- ทันทีที่พบว่ามีการ พลัดตก หกล้มให้รีบเข้าไปประคอง และดูว่าเป็นการหกล้มอย่างรุนแรง เช่น ศีรษะฟาดลงกับพื้น ได้รับบาดเจ็บที่คอ หลัง สะโพก ต้นขาหรือไม่
- หากเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาลทันที
- เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟกช้ำ หรือบวมอย่างรุนแรง ให้ทำการประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็งไปที่บาดแผล หรือบริเวณที่มีการฟกช้ำ หรือบวม
- ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง ให้รับประทานยาแก้ปวด
- นำผู้บาดเจ็บไปพักผ่อนและรอดูอาการ และสังเกตอาการใน 24 ชั่วโมงแรก
การสังเกตุอาการอะไรที่ควรไปพบแพทย์ทันที
โดยทั่วไปหากเป็นการ พลัดตก หกล้มที่ไม่รุนแรง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็สามารถช่วยรับมือได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแทรกซ้อนหรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นตามมาใน 24 ชั่วโมงแรก ควรพาผู้บาดเจ็บไปพบคุณหมอ
- มีไข้
- มีอาการง่วงหรืออ่อนเพลียมากเป็นพิเศษ
- วิงเวียนศีรษะและอาเจียน
- ปวดศีรษะ คอ หลัง หรือบริเวณที่เกิดการหกล้มอย่างรุนแรง
- ไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ
- มีปัญหาด้านการมองเห็น หรือมองไม่ค่อยเห็น
- มีเลือดออกในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
- มีปัญหาด้านการหายใจ เช่น หายใจไม่ออก หยุดหายใจ
- หมดสติ
- มีอาการชัก