การทำงานนาน ๆ หน้าโต๊ะทำงาน เป็นเรื่องที่อันตรายกว่าที่เราคิดมาก เพราะไม่เพียงแค่อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานได้ ซึ่งเราเชื่อว่ามีหลายคนรู้อยู่แล้วว่าการนั่งทำงานนาน ๆ มันไม่ดี แต่บางทีมันก็เลี่ยงไม่ได้
เรื่องนี้เราสามารถบรรเทาและจัดการกับปัญหาได้ด้วยการจัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย และสภาพแวดล้อม โดยใช้หลักการยศาสตร์ (Ergonomics) เป็นแนวทางในการปรับรูปแบบทำงานให้สอดคล้องกับโครงสร้างสรีระร่างกายของมนุษย์ และช่วยไม่ให้เกิดอันตรายขณะทำงาน ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำไอเดียการจัดโต๊ะทำงานตามหลักการยศาสตร์ซึ่งจะช่วยให้คุณมีชีวิตการทำงานที่ดีกว่าเดิม
ที่นั่งและโต๊ะทำงานที่จัดตามหลักการยศาสตร์ควรเป็นแบบไหน
- เก้าอี้ที่ดีคือปัจจัยอันดับหนึ่ง
เพราะเก้าอี้ที่นั่งสบายหรือถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ จะช่วยลดความเมื่อยล้าบริเวณแผ่นหลัง กระดูกสันหลัง และหัวไหล่ได้เป็นอย่างดี โดยเก้าอี้ที่เหมาะสมควรมีลักษณะดังนี้
– มีความสูงพอดี ถ้าหากสูงเกินไปจะทำให้ปวดแขน ปวดไหล่ ถ้าหากต่ำเกินไปจะทำให้ ปวดคอและปวดหลังได้
– มีพนักพิงที่รองรับแผ่นหลังได้จนชิด และมีที่วางแขนในระดับเหมาะสม ป้องกันการเกร็งของกล้ามเนื้อขณะใช้งาน
– เมื่อนั่งบนเก้าอี้แล้วขาต้องทำมุมอย่างน้อย 90 องศา ฝ่าเท้าต้องอยู่วางบนพื้นได้เต็มเท้า หากขาไม่ถึงพื้นควรหาเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ มาวางเท้า
- การจัดโต๊ะและอุปกรณ์ทำงาน
ซึ่งพวกอุปกรณ์ทำงานที่สำคัญ ได้แก่ โต๊ะ คอมพิวเตอร์ แป้นพิมพ์ และเมาส์ การจัดอุปกรณ์เหล่านี้ให้เหมาะสมกับร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการปวดคอ ปวดตา ปวดข้อมือ และปวดหลัง โดยอุปกรณ์ทำงานควรจัดให้มีลักษณะดังนี้
– โต๊ะทำงาน ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะวางอุปกรณ์ทำงานได้ และมีความสูงพอดี ให้แขนและข้อศอกทำมุม 90 องศา โดยอยู่ในแนวเส้นตรง
– คอมพิวเตอร์ หรือจอภาพ ควรตั้งให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน และขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับเดียวกับระดับสายตา หากหน้าจอไม่สามารถปรับระดับความสูงได้ สามารถเสริมฐานหน้าจอได้ด้วยชั้นวางหรือจะเลือกใช้แขนจับจอแทนก็ได้เหมือนกัน
– แป้นพิมพ์ เป็นของที่ไม่ควรวางในระดับต่ำเกินไป เพราะอาจทำให้บริเวณข้อมือและแขนท่อนล่างเกิดการบาดเจ็บได้ จากกล้ามเนื้อ เส้นประสาทและเอ็นกล้ามเนื้อถูกกดทับ ดังนั้นขณะนั่งทำงานควรจะให้ระดับของมือ แขน ข้อศอกและงานที่ทำอยู่ในระดับเดียวกัน
– เมาส์ ควรวางใกล้แป้นพิมพ์เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของแขน และควรเลือกเมาส์ที่มีขนาดและรูปทรงเหมาะสมกับมือของผู้ใช้
การจัดโต๊ะทำงานตามหลักการยศาสตร์ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพและการทำงาน โดยเราควรเลือกและจัดเก้าอี้ และอุปกรณ์ทำงานให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย และสภาพแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้คุณมีชีวิตการทำงานที่ดีกว่าเดิมได้