โรคหูดับเกิดจาก
โรคหนึ่งที่เกิดในหมู ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปกติจะอยู่ในหมูเกือบทุกตัว และฝังอยู่ในต่อมทอนซิล แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคแต่หากเมื่อใดที่ร่างกายของหมูตัวนั้นอ่อนแอลง เช่นมีการป่วย มันจะฉวยโอกาสทำให้เกิดโรค โดยจะไปกดภูมิคุ้มกันต่างๆ แบคทีเรียจะเพิ่มจำนวน และทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้หมูป่วย และถึงตายได้
สาเหตุของโรคนี้เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis)
ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนได้ 2 ทาง คือทางปากเช่นการทานเนื้อหมู เครื่องในหมู หรือเลือดที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก เช่น ลาบ ลู่ การปิ้งย่างที่ไม่สุก และติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสโรค หรือหมูที่มีเชื้อ
สังเกตอาการของ “โรคหูดับ” เมื่อได้รับเชื้อโดยจะแสดงอาการภายใน 3 วัน
- คนไข้จะมีไข้สูงเฉียบพลัน มากกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือเท่ากับ
- มีอาการปวดศีรษะ ปวดข้อ คอแข็ง
- หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย
- หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน
- หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว
- ทรงตัวผิดปกติ
- มีจ้ำเลือดทั่วตัว
- ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด
ความรุนแรงของ “โรคหูดับ”
เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ผ่านทางกระแสเลือดจะทำให้
- ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ข้ออักเสบ
- ม่านตาอักเสบ
เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลามและทำให้
เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ส่งผลให้เกิดอาการ
- หูตึง หูดับ
- อาการหูหนวก
- เวียนศีรษะ และเดินเซ
ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยิน และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา
เราสามารถป้องกัน ”โรคหูดับ” ได้โดย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ โดยจะต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส และใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนรับประทาน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูสด หรือยังไม่ผ่านการปรุงสุก ด้วยการใส่ถุงมือ และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการนำเนื้อหมูที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ มารับประทาน
- หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน สะอาด ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือกรมอนามัย
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อันเดียวกันที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบ
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หลังจากการกินเนื้ออาหารสุกๆดิบๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
จะเห็นได้ว่า ก่อนทำอาหารทุกครั้งจะต้องให้ความสำคัญในการทำความสะอาดเนื้อสัตว์ และต้องผ่านการปรุงสุก เพื่อช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และความลดเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจตามมา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.sikarin.com/health/streptococcus-suis
https://www.ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=22526&deptcode=brc