เมื่อถึงเวลาที่เราเจ็บป่วย หนี่งในภาวะที่ทุกคนต่างก็ภาวนาขออย่าให้เกิดคือ การติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะนอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอาการป่วยที่มีอยู่แล้ว ยังมักพบอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นร่วมด้วย ในรายที่อาการหนักอาจส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้
ไขข้อสงสัย ติดเชื้อในกระแสเลือด คือติดเชื้ออะไร
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือ Septicemia คือภาวะที่ร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้ามาในกระแสโลหิต โดยได้รับเข้ามาผ่านส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ถ้าไม่ใช่เชื้อแบคทีเรียก็อาจจะเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกไวรัสหรือเชื้อราก็ได้
เชื้อต่าง ๆ ที่ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด มักมีสาเหตุมาจาก
- การติดเชื้ออันเนื่องมาจากมีปัญหาทางสุขภาพอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อที่ช่องท้อง เกิดในคนที่มีอาการปอดบวม ไตอักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ทำให้เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว
- การติดเชื้อเนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อในกระแสเลือดมีโอกาสเกิดมากกว่าในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยลูคีเมีย หรือผู้ที่มีเชื้อ HIV
- การติดเชื้อเนื่องมาจากร่างกายได้รับบาดเจ็บหนัก ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักและมีแผลฉกรรจ์ที่ร่างกาย ก็มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในกระเลือดได้มากขึ้น อย่างเช่นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้ เป็นต้น
- การติดเชื้อระหว่างกระบวนการรักษาตัว เป็นการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำหัตถการบางอย่างเมื่อต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น การสอดท่อเข้าไปที่หลอดเลือด หรือการโดนสวนท่อปัสสาวะ เป็นต้น
เมื่อได้รับเชื้อแล้ว แน่นอนว่าร่างกายของเราต้องพยายามหาทางที่จะกำจัดเชื้อนั้นออก หรือมีปฏิกิริยาตอบโต้เชื้อแบคทีเรียนั้น เพราะเหตุนี้จึงเกิดการอักเสบทั่วร่างกายตามมา และสถานการณ์หลังจากนี้ หากไม่มีการรักษาและควบคุมอย่างเหมาะสม ร่างกายก็มีแนวโน้มที่จะแย่ลงตามลำดับ
- อาจไม่ค่อยรู้สึกตัว เกิดอาการสับสน ไม่สามารถนึกอะไรออกได้
2. อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถลำเลียงออกซินเจนไปยังอวัยวะสำคัญ ๆ ได้
3. อาจเกิดภาวะช็อก และการทำงานของระบบอวัยวะในร่างกายล้มเหลว
รู้ได้อย่างไรว่า ผู้ป่วยอาจติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะได้รับการสันนิษฐานว่าติดเชื้อในกระแสเลือด
- รู้สึกหนาวผิดปกติ
2. มือและเท้าเย็น
3. ไข้ขึ้นสูง
4. หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว
5. ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย
สำหรับการรักษา หากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก ก็สามารถใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาได้ โดยยาที่ใช้รักษาจะมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียหลายประเภทในโดสเดียว นั่นเพราะในบางเคสอาจจะระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรียแบบเจาะจงได้ไม่ทันอาการที่หนักขึ้น
ในผู้ที่มีอาการหนัก การรักษาก็อาจจะยกระดับขึ้น โดยรักษาตามอาการที่เป็น เช่น อาจต้องต่อท่อช่วยหายใจในรายที่ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาเพื่อเพิ่มความดันโลหิต หรือผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อและเสียหายออกไป