แก๊ง คอลเซ็นเตอร์ที่เราหมายถึงในที่นี้ คือ กลุ่มคน ขบวนการหรือ ผู้ไม่หวังดีที่ต้องการจะหลอกล่อเหยื่อทางโทรศัพท์ ให้ตื่นตระหนกหรือเข้าใจผิด เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
ซึ่งเราก็อาจจะได้พบเห็นข่าวอยู่บ่อยๆ แต่แม้จะมีข่าวผู้ที่ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ก็ยังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ จะทำอย่างไรถึงจะป้องกันการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ เรามีวิธี สังเกต ป้องกัน และแก้ไขมาแชร์กันครับ
วิธีสังเกต
- เนื้อหาในการสนทนา เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินหรือขอข้อมูลส่วนบุคคลโดยโน้มน้าวให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง
- เครื่องมือสื่อสาร แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักติดต่อกับเหยื่อทางโทรศัพท์เท่านั้นโดยจะใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้เทคโนโลยีแปลง ให้เป็นเบอร์ของหน่วยงานต่างๆหรือใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่สามารถติดต่อกลับได้หรือบางครั้งจะใช้หมายเลขที่ยาวกว่าปกติ เช่น +00 , +99 นำหน้าหมายเลขโทรศัพท์
ตัวอย่างเรื่องที่มิจฉาชีพนำมาหลอกมีประมาณนี้ครับ
- บัญชีของคุณถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต: เป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะมี และทำให้ตกใจได้ง่าย โดยจะอ้างว่าท่านมีหนี้ ทำให้บัญชีถูกอายัด
- พัวพันการค้ายาเสพติด/ฟอกเงิน/มีคดีความ: เมื่อพบว่าเหยื่อมีเงินจำนวนมากในบัญชี มิจฉาชีพจะหลอกว่ามีคดีความ และให้เหยื่อโอนเงินเพื่อนำเงินมาตรวจสอบก่อน
- เช็คเงินคืนภาษี: เป็นข้ออ้างที่มักใช้ช่วงที่มีการขอคืนภาษี โดยจะหลอกว่าเหยื่อได้รับเงินคืน และต้องไปทำธุรกรรมที่หน้าตู้เพื่อยืนยันตัวตน แต่แท้จริงแล้ว เป็นการทำธุรกรรมโอนเงินให้ไปกับมิจฉาชีพ
- คุณคือผู้โชคดี: หลอกให้เหยื่อดีใจ โดยให้โอนเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกรับรางวัลใหญ่
- ข้อมูลส่วนตัวของคุณหาย: หลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่างๆ
- โอนเงินผิด/อนุมัติเงินกู้: มิจฉาชีพมักจะหลอกว่ามีการโอนเงินผิด หรือมีผู้นำเอกสารของเหยื่อไปขอวงเงินสินเชื่อ แล้วให้เหยื่อโอนเงินกลับมายังบัญชีของมิจฉาชีพ เพื่อทำการตรวจสอบ หรือคืนเงินที่มีผู้โอนไปผิด
วิธีป้องกัน
ในอนาคต มิจฉาชีพอาจหาวิธีการใหม่ๆ ดังนั้นเราควรศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ จะต้องเกิดความตระหนักรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงและปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อยู่เสมอ เช็คได้ยังไงบ้างดังนี้
- ข้อมูลจริงหรือไม่ เมื่อมิจฉาชีพโทรมา ขอให้เราตรึกตรองว่าข้อมูลที่ได้รับเหล่านั้นมีมูลความจริงหรือไม่ เช่น คุณมีบัญชี/บัตรเครดิตธนาคาร หรือได้มีการทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
- ไม่ทำรายการ/โอนเงิน มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้ ATM หรือตู้ฝากเงินอัตโนมัติโดยมักให้เลือกเมนูภาษาอังกฤษ มิจฉาชีพจะถือสาย พร้อมกับบอกขั้นตอนการโอนจนกว่าเหยื่อจะโอนเงินสำเร็จ
- ไม่ให้ข้อมูล ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่างๆ ในทุกๆ ช่องทาง
- ตรวจสอบข้อมูล ให้ขอหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และวางสายเพื่อติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง
- เผื่อแผ่คนรอบข้าง นอกจากเราจะต้องระวังภัยที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว เราควรให้ความรู้เรื่องกลโกงมิจฉาชีพกับคนรอบตัว เช่น ผู้สูงอายุในครอบครัว หรือคนที่มีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงได้ง่าย เป็นต้น
ให้จำไว้เสมอนะครับ ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน จะไม่โทรมาสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล รหัสผ่าน,รหัส OTP , ทุกช่องทาง หากมีผู้มาสอบถาม ให้สงสัยเอะใจไว้ก่อนเลยครับ
วิธีแก้ไข หากพลาดแล้วทำอย่างไร
- รวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนเงินดังกล่าว รวมถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
- แจ้งเบาะแสกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โทร 1599)
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก :
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/gang-callcenter.html