ทำความรู้จัก ไซยาไนด์ (Cyanide) สารเคมีที่อันตรายถึงชีวิต

แชร์บทความนี้

ทำความรู้จัก ไซยาไนด์ (Cyanide) สารเคมีที่อันตรายถึงชีวิต

จากเหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นข่าวในลักษณะการฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ได้สร้างความหวาดกลัวและหวาดระแวงให้กับคนสังคม โดยได้มีการพูดถึง สารพิษ ไซยาไนด์ (Cyanide) ความอันตรายและรุนแรงของเจ้าสารพิษตัวนี้ หากปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็ยากที่จะสังเกตุ วันนี้เรามาทำความรู้จักกันครับ

ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อยู่ในทั้งรูปแบบ ของเเข็ง ของเหลว และแก๊ส เช่น Hydrogen Cyanide, Potassium Cyanide, Sodium Cyanide

  • Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
  • Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
  • Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองรุนแรงเมื่อสูดดม

โดยปกติแล้วมีการนำไซยาไนด์มาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การสกัดแร่ การผลิตกระดาษ พลาสติก หนังเทียม นอกจากนี้ ไซยาไนด์ยังพบในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้สด และถั่วบางชนิด ซึ่งการทำให้สุกก็จะทำให้สารไซยาไนด์ที่มีในธรรมชาติของพืชเหล่านี้สูญสลายไปได้ แต่หากสารนี้มาในลักษณะของสารเคมีที่มีการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย จะมีผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงโดยจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

พิษของไซยาไนด์

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ที่สามารถพบได้ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา โดยระดับความรุนแรงจากพิษของไซยาไนด์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ชนิดของสิ่งมีชีวิต, ระยะเวลาการได้รับ, ปริมาณที่ได้รับ และเส้นทางการได้รับ เช่น การหายใจ การกลืน หรือการฉีด เป็นต้น

โดยผลกระทบจากการได้รับ ไซยาไนด์ แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

ภาวะเป็นพิษแบบเฉียบพลัน

เป็นอาการที่เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการเช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น

ภาวะเป็นพิษแบบเรื้อรัง

เมื่อได้รับไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง มีอาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

ความเข้มข้นหรือปริมาณเท่าไหร่ถึงอันตราย

ไซยาไนด์สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากหลายเส้นทาง ทั้งการสูดก๊าซไซยาไนด์เข้าไป การกินไซยาไนด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสารไซยาไนด์ หากกินไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่างจะใช้เวลาออกฤทธิ์เป็นหน่วยนาที แต่ถ้ามีอาหารอยู่เต็มกระเพาะแล้ว จะหน่วงเวลาเสียชีวิตเป็นหน่วยชั่วโมงแทน เพราะในกระเพาะเรามีกรดที่ใช้ในการย่อยอาหารอยู่ การกินเกลือไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่าง ไซยาไนด์จะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะ เป็นก๊าซไซยาไนด์อยู่ในกระเพาะอาหารและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าสูดไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วินาที

ความเข้มข้นของไซยาไนด์ก็มีผลกับความเร็วของการเสียชีวิต ถ้าจับคนล็อกไว้ในห้องก๊าซขนาด 1x1x1 เมตร แล้วปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปประมาณ 300 มิลลิกรัม เขาจะเสียชีวิตในทันที แต่ถ้าปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์ 150 มิลลิกรัมเข้าไป เขาจะมีเวลาอีกประมาณ 30 นาทีก่อนเสียชีวิต แต่ถ้าปล่อยก๊าซเข้าไปเพียง 20 มิลลิกรัม เขาจะยังไม่เสียชีวิต เพียงแต่จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยหลังจากนั้น

พิษจากไซยาไนด์รักษาอย่างไร ?

  • รักษาประคับประคองตามอาการ โดยการดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยากระตุ้นความดันกรณีมีความดันโลหิตต่ำ รักษาภาวะเลือดเป็นกรด หรือให้ยากันชัก
  • รักษาแบบจำเพาะ กรณีทราบสาเหตุการสัมผัสสารพิษ โดยการให้ยาต้านพิษในกลุ่ม Sodium Nitrite และ Sodium Thiosulfate

 

วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ Cyanide

การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับ Cyanide อาจทำได้ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ ซึ่งในบุหรี่ก็มีไซยาไนด์เจือปน ถึงแม้ว่าจะเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม
  • เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อน Cyanide ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
  • ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจาก Cyanide อาจมาในรูปแบบของควันได้
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของ Cyanide
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

https://marumothai.com/

https://www.synphaet.co.th/cyanide/

https://www.bbc.com/thai/articles/c99vlz9kv90o

https://www.pobpad.com/cyanide-

 

The New ANSI Z87.1-2003

แชร์บทความนี้

จากการที่มาตรฐานใหม่ ANSI Z87.1-2003 ได้รับการอนุมัติ หลังจากคณะกรรมการ ANSI

อ่านต่อ »

เลือกวัสดุทำชุด PPE อย่างไร ให้ปลอดภัย

แชร์บทความนี้

ชุดป้องกันเชื้อโรค หรือ ชุด COVERALL / PPE มีด้วยกันหลายแบบ ซึ่งระดับการป้องกัน และความสบายในการสวมใส่จะขึ้นอยู่กับชนิดผ้า และชนิดตะเข็บ

อ่านต่อ »

จุดยึดสำหรับการทำงานใน สถานที่อับอากาศ

แชร์บทความนี้

หนึ่งในการวางแผนสำหรับการทำงานใน สถานที่อับอากาศ นั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแผนการช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดอุบัติเหตุ

อ่านเพิ่มเติม »

การเลือกหน้ากากกันฝุ่น กันเชื้อโรค

แชร์บทความนี้

เราจึงควรต้องมีความรู้ ในการเลือกหน้ากากให้ถูกชนิดจึง แนะนำการเลือกหน้ากากกันโรค เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยได้…

อ่านเพิ่มเติม »