เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก (Tennis elbow, Golfer elbow)

แชร์บทความนี้

เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก Tennis Elbow และ Golfer’s Elbow แชร์อาการ และท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อ ที่คุณอาจจะเป็นบ่อยๆ

ส่วนใหญ่อาการนี้มักเกิดในนักกีฬาที่มีการใช้กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือหรือแขนบ่อยๆ เช่น เทนนิส กอล์ฟ บางครั้งอาจจะตีขุดดินมากเกินไป แล้วตื่นขึ้นมาจะมีอาการเจ็บขึ้นมาที่ บริเวณข้อศอก กระดกข้อมือไม่ค่อยได้ เนื่องจากเจ็บข้อศอกมาก และรู้สึกเหมือนแขนไม่ค่อยมีแรง แม้แต่จะยกแก้วกาแฟหรือเปิดประตูรถยนต์ หรือบางครั้งบิดผ้าก็ปวดมาก อาการเหล่านี้เป็นอาการของเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะที่ปุ่มกระดูกข้อศอกอักเสบ เรียกว่า โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก ซึ่งมักเกิดบ่อยๆ ใน นักกอล์ฟ นักเทนนิส โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

สาเหตุเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการตึงและสะบัดแรงเกินไป หรือมีการใช้งานซ้ำๆมาก ( Overuse Injury ) หากบาดเจ็บระดับเซลล์ หรือบาดเจ็บหนักๆ ก็จะเกิดอาการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อได้

อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอกด้านนอก Tennis Elbow

  1. จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกตรงเอ็นกล้ามเนื้อ จะปวดมากขึ้นถ้ามีการเกร็งกล้ามเนื้อหรือกระดกมือขึ้นลง
  2. จะปวดบริเวณข้อศอก เวลาสะบัดข้อมือขึ้นแรงๆ หรือเวลากำมือ เช่น ตอนตีในท่า Back Hand

อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอกด้านใน Golfer’s Elbow

  1. ปวดบริเวณข้อศอกด้านในเวลาบิดศอกเข้าด้านในและกระดกข้อมือลง เช่น ลักษณะของการสวิงกอล์ฟแรงๆ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านใน
  2. มักพบในนักกอล์ฟที่ตีเก่งแล้ว ตีได้ไกล เนื่องจากไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องวงสวิง แต่ปัญหาเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือบ่อยเกิน พบบ่อยบริเวณข้อศอกขวาด้านใน

การรักษาเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

การรักษาจะแบ่งออกเป็นแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัด การรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกเสมอ โดยจะแบ่งเป็นช่วงลดการอักเสบ และช่วงการฟื้นฟู สำหรับช่วงลดการอักเสบซึ่งจุดประสงค์หลักก็คือเพื่อลดอาการเจ็บ โดยสิ่งแรกจะเป็นการพักการใช้งาน หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นการบาดเจ็บ โดยเฉพาะท่าทางที่มีการใช้งานข้อมือมากๆ การสะบัดแรงๆ ในลักษณะการงอมากๆทั้งด้านหน้ามือและหลังมือ มีการใช้การประคบเย็น หรืออาจจะใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการซ่อมแซมเอ็นกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบ ในบางท่านอาจจะใช้ยาต้านการอักเสบหรือที่เรียกว่ายาประเภท NSAIDs เพื่อลดอาการปวด บวม และอักเสบ และอาจจะมีอุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ เช่น brace เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหว แต่ต้องไม่ใส่นานเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกิดการยึดติดของข้อต่อ ถ้าการรักษาแบบแรกไม่ดีขึ้นแพทย์อาจจะใช้การรักษาโดยการฉีดยาเพื่อลดปวด ส่วนการรักษาแบบผ่าตัดจะเป็นทางเลือกสุดท้ายกรณีที่การรักษาทั้งแบบไม่ใช้ยา และใช้ยาไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของอาการ แต่ยังมีการรักษาทางเลือกอื่นๆอีกซึ่งเป็นนวัตกรรมของการรักษาสมัยใหม่เช่นการฉีดเกล็ดเลือด สเต็มเซลล์ หรือการใช้ไขกระดูก หรือคอลลาเจน เป็นต้น

ในการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

นั้น ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานหรือการทำกิจกรรมได้ ทางเรายังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมโดยหลังจากการเล่นหรือการใช้งานแล้ว ถ้ามีอาการปวดมากขึ้น ให้ใช้การรักษาด้วยการพัก (Rest) การใช้การประคบด้วยความเย็น (Ice) และใช้ผ้ายืดพันป้องกันไม่ให้บวม (Compression) การวางข้อศอกสูงเวลานั่งหรือนอนโดยใช้หมอนรอง (Elevation) จะทำให้อาการปวดน้อยลง โดยต้องไม่ลืมว่าหลังจากยุบบวมแล้วให้ค่อยๆ เริ่มบริหารกล้ามเนื้อเพื่อช่วยฟื้นฟู หรือถ้ามีการไปพบแพทย์แล้วให้รับประทานยาในกลุ่มต้านการอักเสบตามที่แพทย์สั่ง หรือใช้ในรูปของยาทา แต่
การรักษาให้หายสนิทเป็นสิ่งจำเป็น โดยระหว่างรักษาต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้น แต่มีนักกีฬาหลายท่านที่มีความจำเป็นต้องซ้อมหรือแข่งขันทั้งๆ ที่ยังไม่หายดี ถ้าอาการไม่มากก็อาจจะใส่สายรัดพยุงรัดใต้ข้อศอก ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้มีการกำเริบของอาการ ที่บริเวณเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบมากเกินไป

การป้องกันเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

การฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาเป็นปกติ มีความจำเป็นจะต้องบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขนท่อนล่างให้แข็งแรงร่วมด้วย จึงจะกลับมาเล่นกอล์ฟหรือเทนนิสทำกิจกรรม หรือทำงานได้เหมือนเดิม ถ้าหากไม่บริหารหรือฟื้นฟูสมรรถภาพให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพียงพอ ก็จะเกิดการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายและทำให้เป็นการบาดเจ็บแบบเรื้อรังได้

 

การบริหารยืดกล้ามเนื้อ

ข้อแนะนำ

ก่อนจะเริ่มเล่นกีฬาทางที่ดีควรจะมีการยืดกล้ามเนื้อให้เต็มที่ เพื่อลดอาการบาดเจ็บดังกล่าว

  1. บริหารมือและข้อศอก ให้กล้ามเนื้อเหยียดได้เต็มที่
  2. ควรจะบริหารกล้ามเนื้อแขนให้สม่ำเสมอ ใช้น้ำหนักเบาๆ เพื่อให้เกิดการหดตัวและยืดตัวอย่างพอเหมาะ
  3. การบริหารต้องเริ่มต้นทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติระหว่างการบริหารต้องหยุดพัก

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อส่วน Tennis และ Golfer’s Elbow

  1. ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (Wrist flexors stretch) หงายฝ่ามือพร้อมกระดกข้อมือขึ้น เหยียดศอกตรง ใช้มืออีกข้างช่วยในการกระดกข้อมือ ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

 

  1. ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านหลัง (Wrist extensors stretch) คว่ำฝ่ามือพร้อมกระดกข้อมือลง เหยียดศอกตรง ใช้มืออีกข้างช่วยในการกระดกข้อมือ ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

 

  1. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนด้านหน้า (Wrist flexors strengthening) ตั้งศอก 90°กับลำตัว ถือดัมเบลล์หรือขวดน้ำ หนักประมาณ 1 kg หงายฝ่ามือพร้อมกระดกข้อมือขึ้น ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต

 

  1. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแขนด้านหลัง (Wrist extensor strengthening) ตั้งศอก 90° กับลำตัว ถือดัมเบลล์หรือขวดน้ำ หนักประมาณ 1 kg คว่ำฝ่ามือลงพร้อมกระดกข้อมือขึ้น ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต

  1. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในการบิดหมุนข้อมือ (Supinator & pronator strengthening) ตั้งศอก 90°กับลำตัว ถือดัมเบลล์หรือขวดน้ำ หนักประมาณ 1 kg หมุนฝ่ามือหงายสลับกับคว่ำมือ ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต

 

  1. ท่าบีบลูกบอล กำลูกบอลค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต

 

  1. ท่ากางนิ้ว ใช้ยางยืดหรือหนังยางสวมไว้บริเวณนิ้วแล้วกางออก ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต

 

ลงบ่อเกรอะเสียชีวิตได้อย่างไร จะรู้และป้องกันอย่างไร

แชร์บทความนี้

น่าเสียใจที่เราจะได้ข่าวเหตุการณ์ที่มีผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสูญเสียชีวิตขณะทำงานไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามข่าวล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2020

อ่านเพิ่มเติม »

สารเคมีรั่วไหล ปฏิบัติตัวยังไงให้ปลอดภัย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

แชร์บทความนี้

แชร์บทความนี้ปัญหาสารเคมีรั่วไหล ยังคงเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความอันตรายทั้งต่อผู้

อ่านเพิ่มเติม »