ช่วงนี้เราคงได้ยินข่าว เรื่องฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานรที่พบการติดเชื้อมากขึ้นในหลายประเทศ แต่จริงๆแล้วโรคนี้มีมานานกว่า 10 ปี แล้วไม่ใช่โรคอุบัติใหม่แต่อย่างใด
ฝีดาษลิงเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน พบมากในแถบ แอฟริกา พาหะของโรค คือ หนู สัตว์ฟันแทะ ตระกลูหนู เช่น กระรอก โดยส่วนมากพบผู้ติดเชื้อในต่างประเทศ มาจากการเลี้ยงสัตว์เเปลกๆ หรือเดินทางไปแอฟริกามาก่อน ส่วนใหญ่จะพบเชื้อในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น โดยเกิดจากไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
โดยเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) ซึ่งจัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (vaccinia virus), ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus), ไวรัสวาริโอลา (variola virus) เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ
อาการของฝีดาษลิง
ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน โดยอาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา และเมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา
อาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่จะมีบางรายที่พบอาการรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีโอกาสมีอารรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การติดต่อ ของฝีดาษลิง
จะติดต่อจากการสัมผัสบาดแผล ฝีหนอง โดยตรง ผ่านรอยแตกของผิวหนัง เช่นทางเดินหายใจ ตา จมูก หรือปาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การติดต่อของฝีดาษลิง ถือว่าติดต่อได้ยากกว่าฝีดาษในคน ที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
รักษาอย่างไร
ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ
การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลถึง 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้เพื่อป้องกันอยู่ ซึ่งการได้รับวัคซีนอาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง
การป้องกันโรคฝีดาษลิงคือการรักษาสุขอนามัย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่สัตว์ฟันแทะ สัตว์ตระกูลลิง
- หากมีการสัมผัสให้รีบล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากบาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่สามารถติดเชื้อได้ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ที่สงสัยว่าป่วย หรือมีประวัติเสี่ยง
สำหรับประเทศไทยเราน่ากลัวมั้ย
แม้ไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด 19 ดังนั้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกได้ ทั้งในช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ซึ่งการป้องกันไม่แตกต่างจากโควิดที่เรา โดยสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
mgronline.com และ BBC NEWS