สารเคมีรั่วไหล ปฏิบัติตัวยังไงให้ปลอดภัย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

แชร์บทความนี้

ปัญหาสารเคมีรั่วไหล ยังคงเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความอันตรายทั้งต่อผู้คนที่อาศัยใกล้เคียง และสภาพแวดล้อม ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัย เนื่องจากส่วนใหญ่เหตุการณ์รั่วไหลนี้จะกินอาณาเขตเป็นวงกว้าง สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุ และใกล้เคียง

โดยข้อมูลจากคู่มือประชาชน ในการเอาตัวรอดของกรมป้องกันสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ดังนี้

การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลที่ถูกต้อง จะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างปลอดภัย โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

กรณีถ้าอยู่ในรถ

ให้หาที่จอดรถริมข้างทางในพื้นที่ร่มซึ่งดูแล้วปลอดภัยมากที่สุด ดับเครื่องยนต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับความร้อนสูง และปิดประตูหน้าต่างรถให้มิดชิด พร้อมเปิดวิทยุรับฟังข่าวสารหรือคำแนะนำในการปฏิบัติตน และรอจนกว่าจะได้รับแจ้งให้สามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ จึงค่อยขับรถออกจากบริเวณดังกล่าว

กรณีถ้าอยู่ในอาคาร

ให้รีบปิดประตู และหน้าต่างอาคารให้มิดชิด หากได้รับแจ้งว่าสารเคมีที่รั่วไหล เสี่ยงต่อการจะเกิดการระเบิดให้ปิดมู่ลี่ และผ้าม่านที่หน้าต่าง เพื่อป้องกันสะเก็ดระเบิด ปิดระบบระบายอากาศภายในอาคารทั้งหมด เช่นพัดลมและเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน เป็นต้น จากนั้นให้เข้าไปหลบอยู่ในพื้นที่ด้านในสุดของอาคาร ที่มีประตู และให้นำถุงพลาสติกหรือผ้าชุบน้ำ อุดปิดช่องประตู หรือถ้าเป็นไปได้ให้ใช้เทปและแผ่นพลาสติกปิดคลุมหน้าต่างและช่องระบายอากาศ พร้อมโทรแจ้งหน่วนงานที่รับผิดชอบ หรือให้ความช่วยเหลือ

กรณีอยู่ในพื้นที่ ที่เกิดสารเคมีรั่วไหล

ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหลโดยเร็วที่สุด ใช้ผ้าสะอาดปิดจมูก เพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย พยายามหนีออกไปอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก โดยให้วิ่งไปทางด้านเหนือลม หรือที่สูง จากนั้นเมื่อปลอดภัยแล้ว ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อทำการกำจัดหรือจัดเก็บสารเคมีที่เกิดการรั่วไหล

สารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีจำนวนมากที่มีอันตราย ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งโดยการสัมผัส, การรับประทาน หรือการสูดดม หากใช้ไม่ถูกวิธี และไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานสารเคมีนั้นๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งมีข้อแนะนำเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น มีวิธีปฐมพยาบาลผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมีในเบื้องต้น ก่อนนำส่งสถานพยาบาลดังนี้

หากสารเคมีสัมผัสโดนผิวหนัง

ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดสารเคมีนั้นออกจากผิวหนัง และรีบล้างออกทันทีด้วยการล้างน้ำสะอาดในลักษณะไหลผ่านบริเวณที่ถูกสารเคมีอย่างน้อย 15 นาที หรือทำการถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก และให้ทำการอาบน้ำ ชำระร่างกายด้วยการฟอกสบู่และน้ำจำนวนมากๆ เพื่อเจือจางสารเคมีที่ได้รับจากการสัมผัส

หากกระเด็นโดนดวงตา

ให้รีบล้างออกโดยพยายามลืมตาโดยให้น้ำไหลผ่านอย่างน้อย 15 นาที และระวังไม่ให้น้ำที่ไหลผ่านกระเด็นหรือไหลไปโดนดวงตาอีกข้างหนึ่ง ห้ามขยี้ตา หรือใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาล้างตาอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจจะทำให้ระคายเคืองมากขึ้น หลังจากทำความสะอาดเสร็จให้ใช้ผ้าก๊อซปิดดวงตาและนำส่งแพทย์

หากสูดดมเข้าไป

ให้รีบนำผู้ที่ได้รับสารเคมีออกไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง และมีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยต้องอยู่ทางด้านเหนือลม ห่างจากที่เกิดเหตุไม่ต่ำกว่า 100 เมตร หรือถ้าเคลื่อนย้ายไม่ได้ให้ทำการเปิดประตูหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศและลดความเข้มข้นของสารเคมีที่รั่วไหล ถ้ามีการหายใจไม่สะดวก ให้ใช้การผายปอดเพื่อกระตุ้นระบบทางเดินหายใจ และรีบนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด

หากมีการรับประทานเข้าไป

ให้ปฐมพยาบาลด้วยการทำให้อาเจียน แต่ต้องแน่ใจว่าผู้ประสบเหตุจะต้องไม่ได้รับสารพิษที่เป็นกรด เพราะการทำให้อาเจียนจะทำให้ทางเดินอาหารและอวัยวะต่างๆได้รับสารพิษมากขึ้น แต่หากตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นสารเคมีที่เป็นกรด ให้ทำการล้วงคอเพื่อให้อาเจียน แล้วให้ดื่มนม หรือกินไข่ขาว หรือน้ำเปล่าทันที ซึ่งจะช่วยลดอัตราการดูดซึมสารเคมีของร่างกายได้ แต่ห้ามทำในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ หรือไม่รู้สึกตัว เพราะการกลืนอาหารโดยไม่รู้สึกตัวจะทำให้อาหารไปติดในหลอดลมทำให้เสียชีวิตได้

ผู้ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับอันตรายจากการได้รับสารพิษ ควรสังเกตสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ ก่อนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ หรือปฐมพยาบาล รวมทั้งต้องทำการซักถามผู้ที่อยู่ในเหตการณ์ หรือผู้พบผู้ประสบเหตุเป็นคนแรก และอย่าลืมสังเกตภาชนะที่บรรจุสารพิษที่ตกหล่นในบริเวณ หรือคราบของสารเคมีที่ติดอยู่ตามร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากกลิ่นของสารเคมีที่พบ กับกลิ่นจากลมหายใจของผู้ประสบเหตุ

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

อุปกรณ์ Lockout-Tagout (LOTO)

แชร์บทความนี้

ารปฏิบัติงานกับเครื่องจักร/อุปกรณ์หรือแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าที่หยุดการทำงานนั้นจำเป็นต้องมั่นใจว่าเครื่องจักร/อุปกรณ์หรือแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีโอกาส

อ่านต่อ »