จากกรณีที่จีนพบเชื้อไวรัส “เลย์วี” (LayV) แล้ว 35 เคส ซึ่งเป็นการได้รับเชื้อมาจากหนู ซึ่งส่งผลให้โลกออนไลน์มีการพูดถึงกันและกังวลว่าจะซ้ำรอยโควิด-19 หรือไม่นั้น ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานแพร่สู่คนได้หรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์ประเด็นเชื้อไวรัส เลย์วี (LayV) โดยได้พูดถึงลักษณะของการแพร่เชื้อ อาการ และความรุนแรงของโรคด้วย
ดร.อนันต์ ระบุว่า “เลย์วี (LayV) ที่พบติดเชื้อในประเทศจีนนั้น ก่อนที่ข่าวจะเริ่มออกมาพร้อมกับข้อมูลที่น่าวิตกกังวล โดยไวรัสตัวใหม่ที่ทางทีมวิจัยในจีนได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร New England Journal of Medicine ว่า
- ชื่อเต็มของไวรัสตัวนี้มีชื่อว่า Langya henipavirus เรียกย่อๆว่า LayV ไวรัสชนิดนี้อยู่ในกลุ่ม paramyxovirus โดยมีไวรัสที่เรารู้จักกันในกลุ่มนี้ เช่น ไวรัสโรคหัด และ ไวรัสคางทูม ไวรัสกลุ่มนี้มีไวรัสที่ก่อโรครุนแรงมากเช่นกัน เช่น Nipah and Hendra viruses ซึ่งทำให้คนติดเชื้อและเสียชีวิตได้สูง แต่ความรุนแรงดังกล่าวทำให้การแพร่อยู่ในวงจำกัด
- ประเทศจีนพบการติดเชื้อไวรัส LayV ในคนครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2018 แล้ว และพบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนับได้ 35 เคส และที่สำคัญคือ การระบาดไม่เกิดเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ แต่เป็นแบบกระจัดกระจาย ซึ่งแสดงว่า ไวรัสสามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ แต่ไวรัสจะยังไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ หรือยังได้ไม่ดี
- ไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วย มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงมากกับไวรัสที่แยกได้จาก Shrew หรือ ที่เราเรียกกันว่า “หนูผี” ทำให้เชื่อว่า หนูน่าจะเป็นสัตว์ตัวกลางที่แพร่เชื้อดังกล่าวมาให้คน แต่อาจเป็นไปได้ว่า สัตว์ชนิดอื่นอาจจะเป็นแหล่งรังโรคของไวรัสนี้ได้เช่นกัน
- อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ LayV จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย โดยบางรายอาจมีการทำงานของตับและไตลดลง ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อเสียชีวิต
กล่าวโดยสรุป ไวรัส LayV ติดคนได้จากสัตว์ตัวกลาง โดยยังไม่มีหลักฐานการแพร่จากคนสู่คน อาการไม่รุนแรงมาก และยังไม่มีผู้เสียชีวิต จึงยังไม่ต้องตื่นกลัวแต่อย่างใด
ขอขอบคุณข้อมูล
CR ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา และเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ