มาตรฐานรองเท้านิรภัย ANSI Z41.1

แชร์บทความนี้

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มาตรฐานที่ใช้บังคับอุปกรณ์ป้องกันเท้าและขา คือ มาตรฐาน ANSI Z41.1-1991 และ ANSI Z41.1-1999 Reversion ใช้ฉบับใดก็ได้ถือว่ามีความทัดเทียมกัน จริงๆ แล้ว ANSI Z41.1-1999 Reversionก็เป็น ANSI Z41.1-1991 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั่นเอง และต่อไปนี้จะเป็นการสรุปสาระสำคัญของมาตรฐานทั้งสองฉบับรวมกันซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติของรองเท้านิรภัยไว้ 6 ประเด็น ได้แก่

  1. การต้านทานแรงกระแทกและแรงบีบ(Impact and Compression Resistance)

กำหนดให้รองเท้านิรภัยสำหรับใช้งานทั่วไปจะต้องผ่านการทดสอบคุณสมบัติของหัวรองเท้าที่ใช้ป้องกันนิ้วเท้าจากวัตถุที่ตกหล่นหรือกลิ้งทับ หัวรองเท้าแต่ดั้งเดิมจะทำด้วยเหล็กกล้าจึงเรียกติดปาก“หัวเหล็ก” (Steel Toes) ทั้งๆ ที่มาตรฐานนี้ไม่ได้บังคับให้ใช้เฉพาะหัวเหล็กเท่านั้น (ปัจจุบันหัวรองเท้าทำด้วยวัสดุไม่ใช่โลหะ อาทิเช่น “IronAge/Knapp” มีคุณสมบัติทัดเทียมกับเหล็กกล้าในการใช้ทำหัวรองเท้านิรภัยและได้รับการรับรองตาม มาตรฐานนี้เช่นกัน)หัวรองเท้านิรภัยที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ANSI Z41.1-1991 หรือANSI Z41.1-1999 Reversion จะต้องผ่านการทดสอบการต้านทานแรงกระแทกและแรงบีบที่เรียกว่า The ANSI Class ซึ่งมีตั้งแต่ Class 30,Class 50 และสูงสุด Class 75

ตัวอย่างการทดสอบหัวรองเท้า Class 75

ใช้วัตถุหนัก 50 ปอนด์ทิ้งลงมายังหัวรองเท้าในระยะความสูง 18 นิ้วหรือใช้แรงบีบ 2,500 ปอนด์โดยหัวรองเท้าต้องมีความต้านทานแรงกระแทกหรือแรงบีบดังกล่าวในระดับยอมรับได้ วัดจากการยุบตัวที่ทำให้มีช่องว่างระหว่างขอบหัวรองเท้าด้านบนกับพื้นรองเท้าลดลงไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ได้แก่ 16/32 นิ้ว (12.7 มม.) สำหรับหัวรองเท้าผู้ชาย และ 15/32 นิ้ว (11.9 มม.) สำหรับหัวรองเท้าผู้หญิง

  1. รองเท้าป้องกันกระดูกเท้าส่วนบน(Metatarsal Footware)

กำหนดให้รองเท้านิรภัยที่จะนำไปใช้ในบริเวณซึ่งมีความเสี่ยงที่กระดูกเท้าด้านบน (หลังเท้า) จะได้รับอันตรายจากวัตถุหล่นกระแทก โดยจะต้องมีแผ่นป้องกันกระดูกเท้าส่วนบน (หลังเท้า) นอกเหนือไปจากหัวรองเท้านิรภัย ทั้งนี้ สามารถติดตั้งได้ทั้งที่ด้านนอกหรือด้านในของตัวรองเท้า

  1. รองเท้าป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า (Electrical Hazard (EH) Footware)

กำหนดให้รองเท้านิรภัยที่จะนำไปใช้ป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าต้องมีโครงสร้างพื้นรองเท้าสามารถลดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าเมื่อสัมผัสกับวัตถุที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน โดยให้เป็นมาตรการป้องกันขั้นที่สอง (Secondary Protection) รองจากการปกคลุมหรือห่อหุ้มผิวด้านนอกตัวนำไฟฟ้าด้วยฉนวน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งรองเท้านิรภัยที่ใช้พื้นและส้นรองเท้าทำด้วยวัสดุไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า มีจุดประสงค์เพื่อนำไปสวมใส่ในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่บนพื้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดหรือในลักษณะไหนก็ตาม เป็นการป้องกันผู้สวมใส่ไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช๊อต ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีการหุ้มฉนวนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว

  1. รองเท้าตัวนำ (Conductive Footware)

กำหนดให้รองเท้าที่จะเป็นตัวนำ ต้องออกแบบให้มีการปล่อยไฟฟ้าสถิตจากร่างกายผู้สวมใส่ผ่านรองเท้าลงสู่พื้น ทั้งนี้ พื้นจะต้องเรียบเพื่อให้ไฟฟ้าสถิตกระจายตัวออกไปได้ง่าย จุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าสถิตเกิดการสะสมทั้งบนร่างกายและพื้นที่ทำงานซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระเบิดหรือลุกไหม้ ใช้สวมใส่เมื่อต้องเข้าไปทำงานในบริเวณที่มีวัตถุระเบิดหรือสารเคมีที่ระเบิดหรือลุกติดไฟได้ง่าย

  1. รองเท้าป้องกันการเจาะทะลุพื้นรองเท้า (Sole Puncture)

กำหนดให้รองเท้านิรภัยที่จะนำไปใช้ในบริเวณซึ่งมีความเสี่ยงที่พื้นรองเท้าจะถูกวัตถุแหลมคมเจาะทะลุ ต้องใช้พื้นรองเท้าที่มีคุณสมบัติป้องกันในระดับที่ยอมรับได้ อย่างน้อยจะต้องป้องกันการเจาะทะลุของสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปตามพื้นของสถานที่ทำงาน เช่น ตะปู เศษแก้วเศษโลหะ ฯลฯ

  1. รองเท้ากระจายไฟฟ้าสถิต (Static Dissipative (SD) Footware)

กำหนดให้รองเท้านิรภัยที่จะใช้เป็นทั้งรองเท้าตัวนำและรองเท้าป้องกันไฟฟ้าดูดในคู่เดียวกัน ต้องมีคุณสมบัติในการลดการสะสมสูงสุดของไฟฟ้าสถิตบนร่างกายได้ แต่ก็ยังมีไฟฟ้าสถิตในระดับสูงพอจะทำให้มีความต้านทานกระแสไฟฟ้าในอัตราที่กำหนดไว้ (อัตรากำหนดสำหรับการทดสอบ 106-109 โอห์ม) นั่นคือ รองเท้ากระจายไฟฟ้าสถิตจะต้องเป็นทั้งตัวนำไฟฟ้าสถิตและตัวต้านทานกระแสไฟฟ้าซึ่งสามารถสวมใส่เข้าไปในบริเวณที่มีความเสี่ยงทั้งสองลักษณะได้

สรุป

รองเท้านิรภัยคู่ใดก็ตามที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ANSI Z41.1-1991 และ ANSI Z41.1-1999 Reversion จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการทดสอบข้อใดข้อหนึ่งใน 6 ข้อดังกล่าวข้างต้น โดยจะถือว่าเป็นรองเท้านิรภัยสำหรับใช้ในวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้นั้นเช่น รองเท้าที่มีคุณสมบัติและผ่านการทดสอบตามข้อ 1. คือ มีหัวรองเท้านิรภัยสามารถทนแรงกระแทกและแรงบีบตามที่กำหนดไว้ จะถือว่าเป็น “รองเท้านิรภัยสำหรับใช้งานทั่วไป” ตามมาตรฐานนี้ อย่างไรก็ตาม อาจมีคุณสมบัติและผ่านการทดสอบในมากกว่าหนึ่งข้อในคู่เดียวกันส่วนใหญ่จะเป็นข้อ 1. ร่วมกับข้อ 5. ทำให้รองเท้านิรภัยคู่นั้นมีทั้งหัวรองเท้านิรภัยและพื้นรองเท้าต้านทานการแทงทะลุซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของลูกจ้างจำนวนมากในปัจจุบัน

ที่มา: นิตยสาร Safetylife

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB คืออะไร มีผลข้างเคียงไหม ใครจะได้รับบ้าง

แชร์บทความนี้

แชร์บทความนี้LAAB เป็นแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันที่ออกฤทธิ์ยาว ประกอบด้วยแอนติบอดี

อ่านเพิ่มเติม »

ตู้จัดเก็บสารเคมีไวไฟ Flammable Storage Cabinet Requirements

แชร์บทความนี้

พื้นฐานในการป้องกันไฟอีกอย่างหนึ่งคือการใช้ ตู้จัดเก็บสารไวไฟ NFPA, OSHA และ UFC ได้กำหนดให้ ตู้จัดเก็บสารไวไฟได้รับการออกแบบและสร้าง….

อ่านเพิ่มเติม »