การทำความสะอาดหลังน้ำท่วม ลดลงเราต้องใช้เวลา ความอดทนและความระวังเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ที่เป็นบ้าน บริษัทหรือโรงงานของเรา ตอนนี้สภาพอาจคล้ายสภาพหลัง สมรภูมิรบกันเลยทีเดียว มีทั้งเศษโคลน ขยะ เศษสิ่งของ ซึ่งอาจจะมีการแตกหักจนมีคม สารเคมีที่หลุดออกมาในน้ำ รวมถึงกลิ่นขยะเน่าเหม็น ผสมกับสารเคมีนานาชนิด ดังนั้น การทำความสะอาดหลังน้ำท่วม ลดลงจึงจำเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อร่างกายคนรอบข้าง
ในการทำความสะอาดสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การป้องกันตนเองของผู้ทำ เช่น การใส่ถุงมือยาง, รองเท้าบู๊ต ซึ่งสำคัญมากพอๆกับการใส่หน้ากากนิรภัยในการทำงาน ใส่ถุงมือยางและรองเท้าบู๊ตช่วยป้องกันการสัมผัสโดนเชื้อโรคเชื้อราสารเคมี, ของมีคม รวมถึงป้องกันไฟดูด ส่วนหน้ากากนิรภัย ช่วยป้องกันกลิ่นเหม็น การหายใจเอาสปอร์ของเชื้อโรค แบคทีเรียต่างๆ และไอระเหยของสารเคมีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งในระหว่างการทำความสะอาดควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศระบายได้มากที่สุด อาจเปิดพัดลมเพดานช่วยระบายอากาศ
**ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะเชื้อต่างๆจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในระบบปรับอากาศ และจะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อราต่อไป เป็นภัยเงียบที่เรามองไม่เห็น
**หากสิ่งของใดๆ ที่ได้เกิดเชื้อราขึ้นแล้ว ให้นำออกไปทำความสะอาดในที่ๆอากาศถ่ายเทและห่างออกไปจากตัวอาคาร เพื่อไม่ให้สปอร์ของเชื้อรากระจายเข้าไปอยู่ในบ้าน หากเกิดเชื้อราเกิดขึ้นแล้ว บนพื้นผิวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้น, ผนัง,เพดาน หรือเฟอร์นิเจอร์ ควรจะต้องใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเพื่อไม่ให้เชื้อฟุ้งกระจาย ก่อนจะล้างทำความสะอาดล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่าลืมที่จะใส่เครื่องป้องกันตนเอง โดยเฉพาะหน้ากากกรองอากาศ ผ้าปิดปากปิดจมูก ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ตเพื่อป้องกันตนเอง
(ข้อมูลประกอบ http://www.iurban.in.th/highlight/cleanhouseafterflooding/)
คราวนี้เรามาทำความรู้จักอุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่จะช่วยให้เราสามารถทำความสะอาดได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น
แว่นครอบตากันละอองน้ำและสารเคมี
— ใช้ป้องกันดวงตาจากละอองน้ำสกปรก และสารเคมี ควรใช้แว่นครอบตาที่ มีวาล์วระบายความร้อน ไม่ควรเลือกแว่นตาที่ช่องระบายอากาศเป็นรูๆ เนื่องจากน้ำและเชื้อโรคสามารถเข้าได้
ถุงมือ
— ถุงมือที่เหมาะสำหรับทำความสะอาดหลังน้ำท่วมคงหนีไม่พ้นถุงมือยางสำหรับแม่บ้านทั่วไปเนี่ยแหละ ใช้ได้อเนกประสงค์ทั้งล้างทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายสิ่งของ อย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยในการเก็บของ และขยะซึ่งอาจจะมีสิ่งของที่แตกหักหรือมีคม ความหนาของถุงมือก็ไม่ควรจะให้บางเกินไปนัก
หรือถ้าต้องการถุงมือที่เน้นการเคลื่อนย้ายของหนักโดยเฉพาะไม่ได้เอาไปล้างหรือจุ่มน้ำ ก็แนะนำให้ใช้ถุงมือผ้าเคลือบยางไปเลย จะได้ยกของได้สะดวกและป้องกันของมีคมได้ด้วย
หน้ากากนิรภัย
—- โดยทั่วไปอันตรายที่มาจากการหายใจในช่วงน้ำลด จะแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ
1.อันตรายจากฝุ่นละออง เชื้อโรค สปอร์ของเชื้อรา เชื้อโรคในอากาศ
2. กลิ่นเหม็นจากขยะ สิ่งปฎิกูล และ ไอระเหยจากสารเคมีต่างๆที่รั่วไหลออกมา
ดังนั้น จึงควรเลือกหน้ากากนิรภัยที่เหมาะสมกับหน้างาน ดังนี้
- หน้ากากนิรภัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Mask) – เหมาะสำหรับหน้างานที่กลิ่นไม่รุนแรงนัก หรือใช้เวลาทำความสะอาดไม่นาน
1. หน้ากากอนามัย N95 หรือ P2 สามารถกรองอนุภาคได้ถึง 0.3 ไมครอนและประสิทธิภาพในการกรอง 95% เหมาะจะใช้สำหรับการป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคต่างๆ ในอากาศ เหมาะสำหรับหน้างานที่ไม่มีสารเคมี หรือกลิ่นจากขยะเน่าเหม็น (กลิ่นน้อยมาก)
2.หน้ากากอนามัย N95 หรือ P2 แบบมีคาร์บอน สามารถป้องกันฝุ่น เชื้อโรคและกลิ่นแบบเบาได้ เหมาะจะใช้ เหมาะสำหรับหน้างานกลิ่นสารเคมี หรือกลิ่นจากขยะเน่าเหม็นไม่รุนแรงนัก
- หน้ากากนิรภัยแบบเปลี่ยนไส้กรอง (Reusable Respirator) – เป็นหน้ากากที่มุ่งเน้นการกันกลิ่นโดยเฉพาะ โดยไส้กรองสามารถใช้ได้นาน และสามารถเปลี่ยนได้เมื่อเสื่อมสภาพ มีไส้กรองให้เลือกหลากหลายให้เหมาะกับหน้างาน โดยเหมาะสำหรับพื้นที่ที่กลิ่นรุนแรง หรือต้องใช้เวลาทำความสะอาดเป็นเวลานาน
1.หน้ากากไส้กรองเดี่ยว — สำหรับหน้างานที่มีกลิ่นหรือไอสารเคมีเข้มข้นปานกลางถึงมาก น้ำหนักเบา คล่องตัว
2.หน้ากากไส้กรองคู่ — สำหรับหน้างานที่มีกลิ่นหรือไอสารเคมีเข้มข้นปานกลางถึงมาก แต่เนื่องจากมีไส้กรองคู่จึงทำให้หายใจได้สะดวกกว่า หน้ากากไส้กรองเดี่ยว
นอกจากนี้ หน้ากากไส้กรองยังสามารถเพิ่มแผ่นกรองกันฝุ่นแบบ N95 ได้ ทำให้นอกจากกันกลิ่นแล้ว ยังสามารถกันเชื้อโรคได้อย่างดีด้วย
(ข้อมูลเพิ่มเติม https://thai-safetywiki.com/index.php?option=com_content&view=category&id=38:knowledge-respirator&Itemid=53&layout=default )
ชุดกันละอองน้ำและสารเคมี
— เป็นชุดสำหรับป้องกันการกระเด็นและละอองน้ำสกปรก และสารเคมี เวลาล้างทำความสะอาด แบ่งเป็น 2 ประเภท
- ชุดป้องกันแบบใช้แล้วทิ้ง — โดยทั่วไปที่มีจำหน่าย มักจะเป็นชุดคลุมทั้งตัวสำหรับสวมทับเสื้อผ้า มี 2 แบบคือชุดพลาสติกเหมือนชุดกันฝนซึ่งเวลาใส่จะร้อนมาก เนื่องจากไม่สามารถระบายอากาศได้ ส่วนอีกแบบจะเป็นชุดที่ทำมาจากผ้า Polypropylene แต่ต้องเลือกแบบที่สามารถกันน้ำได้ โดยให้ดูสัญลักษณ์ที่ชุดด้านล่าง ชุดนี้จะราคาสูงซักหน่อยแต่เวลาใส่จะสบายกว่า
ชุดป้องกันแบบทำความสะอาดได้ — มักทำมาจาก PVC มีหลายรูปแบบ ทั้งเป็นกางเกง เอี๊ยม หรือชุดติดรองเท้าบู๊ท สามารถทำความสะอาดได้ โดยส่วนตัวแล้วชุดแบบนี้ค่อนข้างเหมาะสำหรับทำความสะอาด เพราะล้างได้ใช้ได้หลายครั้ง สวมใส่สะดวก แต่ติดก็ตรงร้อนเนี่ยแหละ ร้อนมาก แต่ยังดีที่ถอดง่าย ส่วนชุดแบบติดบู๊ทสำหรับลุยน้ำ ก็ใช้ได้เวลาทำความสะอาด แต่ราคาจะสูงกว่าและถอดชุดค่อนข้างลำบาก
รองเท้าบู๊ท
— รองเท้าที่เหมาะสมก็คงหนีไม่พ้นรองเท้าบู๊ท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำมาจากยางหรือ PVC หลังๆในตลาดมีให้เลือกเยอะมาก ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น แต่อาจไม่ต้องสูงเหมือนตอนลุยน้ำท่วม เพื่อความคล่องตัว เวลาใส่ก็ควรใส่ไว้ข้างใต้กางเกง หรือชุดกันละอองน้ำนะครับ (ต่างกับตอนลุยน้ำที่เอากางเกงใส่ไว้ในบู๊ทกันเปียก) แต่ถ้าในพื้นที่กองสิ่งของ หรือขยะเยอะมาก เพื่อความปลอดภัยก็อาจจะเลือกที่เป็นบู๊ทนิรภัย แบบมีหัวเหล็ก พื้นเหล็ก จะได้มั่นใจว่าปลอดภัยชัวร์ ไม่บาดเจ็บ
หวังว่าบทความนี้ คงเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังทำความสะอาดหลังน้ำท่วมกันบ้างนะครับ
Tag: ชุดทำความสะอาด, รองเท้าบูท, น้ำท่วม, ทำความสะอาด หลังน้ำท่วม, หน้ากากกันกลิ่น, ล้างทำความสะอาด หลังน้ำท่วม, ทำความสะอาดโรงงาน หลังน้ำท่วม, ชุดลุยน้ำ, ชุดกันน้ำ, หลังน้ำท่วม
facebook : Thai-Safetywiki
ติดต่อเรา : Thai-Safetywiki