ถ้าลองสังเกตดี ๆ คุณจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้ตามอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาล สถานที่ราชการ และบริษัทเอกชนหลายแห่ง นอกจากจะมีถังดับเพลิงและอุปกรณ์ฉุกเฉินติดตั้งอยู่ทั่วไปเพื่อเตรียมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็ยังจะมีการนำเครื่อง AED ติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย บางคนที่ยังไม่เคยใช้ หรือไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้ก็อาจยังไม่รู้ว่า เจ้าเครื่อง AED นั้นเอาไว้ใช้ทำอะไร และสำคัญแค่ไหน
ทำความรู้จักเครื่อง AED
AED (Automatic External Defibrillator) หรือชื่อไทยของอุปกรณ์ตัวนี้ที่นิยมเรียกกันก็คือ “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ” พอเอ่ยถึงชื่อภาษาไทยหลายคนคงเข้าใจได้ทันทีเลยว่า นี่คืออุปกรณ์ฉุกเฉินที่มีไว้สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางหัวใจ อย่างหัวใจหยุดเต้น เดินไม่เป็นจังหวะ หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากโรคหัวใจ
เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ฉุกเฉินที่สามารถวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้ และสามารถใช้เพื่อปล่อยคลื่นไฟฟ้าฟ้าเข้าไปกระตุ้นหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาทำงานเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตจากสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างความเป็นความตายได้ แต่ที่สำคัญก็คือ คนที่จะใช้เครื่อง AED ได้นั้น ต้องมีความเข้าใจในหลักและวิธีการใช้งาน รวมไปถึงความรู้ในเรื่องของการช่วยชีวิตพื้นฐานด้วย
หลักการใช้งานเครื่อง AED ที่ถูกต้อง
เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเครื่อง AED ได้อย่างถูกต้อง อันดับแรกต้องมาดูก่อนว่า สถานการณ์ไหนถึงจะควรใช้เครื่องช่วยชีวิตชนิดนี้
- ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หมดสติ ทั้งจากอาการโรคหัวใจ หรือการหมดสติจากการถูกไฟฟ้าช็อต
- กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก และสงสัยว่าอาการโรคหัวใจกำลังจะกำเริบ
สำหรับวิธีการใช้งานเครื่อง AED แบบเบื้องต้นนั้น จะมีขั้นตอนดังนี้
- กดปุ่มเปิดเครื่องเพื่อใช้งาน แต่ก็จะมีบางรุ่นที่สามารถใช้งานได้ทันทีเลยเพียงแค่เปิดฝาครอบออก
- ติดแผ่นนำไฟฟ้าให้กับผู้ป่วย โดยติดที่บริเวณหน้าอก ต้องติดให้แนบสนิท โดยตำแหน่งแรกจะอยู่ที่กระดูกไหปลาร้าด้านขวา อีกแผ่นที่ใต้ราวนมซ้าย ที่สำคัญคือหน้าอกของผู้ป่วยต้องห้ามเปียกเด็ดขาด
- รอให้เครื่องวิเคราะห์คลื่นหัวใจ เวลานี้อย่าเพิ่งรีบร้อนทำอะไร ให้ผู้ใช้งานรอเครื่อง AED ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จก่อน แต่ก็ต้องดูด้วยว่า เครื่องที่ใช้นั้นต้องกดปุ่มสั่งการทำงานด้วยหรือไม่ ถ้าต้องกดก็กดเลย
- อ่านผลการวิเคราะห์แล้วทำตาม เมื่อเครื่อง AED ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จแล้ว เครื่องจะบอกให้ผู้ใช้งานทราบว่า จะต้องทำอย่างไรกับผู้ป่วยต่อไป เช่น หากจำเป็นต้องกระตุ้นการทำงานหัวใจด้วยไฟฟ้า เครื่องจะแจ้งว่า ให้กดปุ่ม SHOCK หรือเครื่องอาจจะแจ้งว่าไม่ต้องกระตุ้นด้วยไฟฟ้า แต่ให้ทำ CPR แทน ก็ให้เริ่มต้นการทำ CPR ได้เลย แน่นอนว่าตรงนี้ผู้ใช้งานเองก็ต้องมีความรู้เรื่องการทำ CPR ด้วย
การรู้จักและเข้าใจในหลักการใช้และความสำคัญของเครื่อง AED จะช่วยให้คุณมีความพร้อมในการดูแลและรักษาชีวิตมากขึ้น ซึ่งขอบอกเลยว่าการใช้งานเครื่อง AED ได้อย่างถูกต้องและทันเวลา จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากผู้ป่วยที่หมดสติจากอาการทางหัวใจได้เป็นอย่างดี เรื่องสำคัญแบบนี้ ไม่รู้ไม่ได้แล้ว